Nature

► ว่าด้วยหลักการแห่งสงครามกับทฤษฎี " just war theory "
ภายใต้คำว่า ‘สงคราม’ ที่ถูกบรรจุไว้ด้วยความรุนแรง การรบราฆ่าฟัน หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ นั้น ลึกลงไปยังมีทฤษฎีที่ใช้อธิบาย แยกย่อยประเภทของสงครามไว้อย่างน่าสนใจ

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายให้เราฟังว่า มีคำอธิบายเกี่ยวกับสงครามในทางปรัชญาที่สำคัญอยู่เรื่องหนึ่งเรียกว่า " just war theory " หรือสงครามที่ถูกต้องชอบธรรม ในทางทฤษฎีจะพูดถึงสงครามอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ just war และ unjust war

just war หรือสงครามที่ถูกต้องชอบธรรม คือ สงครามที่มีเหตุจำเป็นหรือมีเหตุผลรองรับเพียงพอในการก่อสงคราม ยกตัวอย่างเช่น ประเทศ A ถูกรุกรานจากประเทศ B ลักษณะนี้ประเทศ A มีสิทธิป้องกันตัวเองจากการถูกรุกรานได้ ต่างจาก unjust war ที่เป็นการบุกไปฆ่าคนอื่นโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุน


อาจารย์ยกตัวอย่าง unjust war ที่เห็นภาพชัดที่สุด คือ เหตุการณ์สหรัฐฯ บุกอิรักเมื่อปี พ.ศ.2546 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ครั้งนั้นประธานาธิบดีบุชอ้างเหตุผลความชอบธรรมในการบุกและก่อสงครามว่า อิรักลักลอบสะสมอาวุธทำลายล้างสูงไว้มากมาย หากปล่อยไว้ก็อาจเกิดอันตรายกับโลกได้จึงขออาสายกทัพบุกอิรัก และสังหารผู้นำรัฐบาลอย่าง ซัดดัม ฮุสเซน

แต่เวลาต่อมาความจริงก็ปรากฎว่า อิรักไม่ได้มีคลังแสงอาวุธอย่างที่อเมริกาเคยกล่าวหาไว้ นอกจากจะไม่เจออาวุธอย่างที่บุชอ้างแล้ว อาวุธที่เจอยังธรรมดาและแทบจะล้าสมัยด้วยซ้ำ ส่วน just war เป็นสงครามที่วางอยู่บนความถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์เลยไหม? เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขยายความให้ฟังว่า ในเชิงหลักการแล้วก็มีการสร้างข้อจำกัดด้านศีลธรรมที่ไปเป็นแนวกำหนดปฏิบัติในการทำสงคราม just war เหมือนกัน

แม้ประเทศที่ถูกรุกรานจะมีความชอบธรรมในการก่อสงคราม หรือโต้ตอบกลับ แต่เส้นของการโต้กลับนี้ต้องไม่ก่อให้เกิด ‘casualties’ คือ ผลกระทบจากสงครามทั้งทางตรงและทางอ้อม just war ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด“ทุกความขัดแย้งมี casualties หมด มันเลี่ยงไม่ได้ อย่างกรณีการสังหารผู้นำเบอร์สองของอิหร่าน แม้ว่าคนคนหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว แต่เรื่องไม่ได้จบแค่นั้น มันยังสร้างความตึงเครียด ความชิงชังให้เกิดในกระแสโลก ซึ่งท้ายที่สุดคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ พลเรือนที่ยังต้องใช้ชีวิตกันต่อไป เขาอาจจะไปเจอกับเหตุการณ์ที่ unwelcome ได้รับการกระทำที่ชิงชัง เพราะคนเหล่านั้นไม่สามารถจัดการกับผู้นำหรือรัฐบาลได้ พลเมืองก็อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง”

สงครามยังจำเป็นอยู่ไหม?
“สงครามเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งที่เร็วที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความขัดแย้งที่รวดเร็วที่สุดเหมือนกัน”

อ.เกษม อธิบายเหตุผลการมีอยู่ของสงครามให้ฟังว่า แม้สงครามจะนำมาซึ่งผลกระทบมากมาย แต่ความขัดแย้งบางอย่างก็ซับซ้อนจนไม่สามารถหาทางออกได้ด้วยวิธีการที่นุ่มนวล ผู้มีอำนาจบางคนจึงเลือกที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อยุติปัญหา เพราะการใช้สงครามหรือความรุนแรงเป็นตัวเร่งในการซื้อสันติภาพใช้เวลาน้อยแต่ได้ผลที่รวดเร็ว

เมื่อเทียบเคียงกับการที่ต้องประวิงเวลารอการแก้ไขแบบค่อยเป็นค่อยไป คนจำนวนหนึ่งจึงเลือกที่จะขจัดปัญหาด้วยสงคราม หรือบางครั้งสงครามอาจจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้อีกฝ่ายเข้าไปควบคุม/ปกครองฝั่งที่ถูกกระทำตามที่ตัวเองต้องการได้เราจะเห็นลักษณะแบบนี้ได้จากสถานการณ์ความตึงเครียดในบางประเทศที่ทุกฝ่ายมักจะหลีกเลี่ยงการเจรจาใดๆ ที่อาจนำไปสู่สงคราม ประกอบกับบทเรียนราคาแพงในช่วงศตวรรษที่ 20 ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามอิรักเองก็ดี ทั้งหมดได้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้คนรุ่นใหม่เห็นแล้วว่า สงครามไม่ใช่สิ่งจำเป็น

“ในทางทฤษฎีการทำสงครามไม่มีความจำเป็นเลย ยิ่งตอนนี้มี global value ที่หลายประเทศรับมาเป็นบรรทัดฐาน ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงความยุติธรรมโลก สิทธิมนุษยชน หรือการให้ความช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ ทำให้ดีกรีการคิดเรื่องสงครามมันน้อยลง แต่ในมุมของคนที่คิดถึงความมั่นคง คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของชาติก็ยังมีความคิดเรื่องสงครามอยู่ คนพวกนี้ยังมองสงครามเป็น necessity evil หรือความชั่วร้ายจำเป็น รัฐจึงได้มีการพัฒนาในเรื่องคลังแสง แสนยานุภาพ อาวุธสงครามกันอยู่ตลอด”

อ.เกษม ยังบอกด้วยว่า สงครามสมัยใหม่แทบจะไม่มีครั้งไหนเข้าข่ายเป็น ‘just war’ ด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่แล้วเป็น ‘unjust war’ มากกว่า เพราะโดยพื้นฐานแล้ว สงครามจะไปผูกติดกับข้อพิพาททางการเมือง ตรงนี้เองที่นักปรัชญามีความพยายามเข้าไปอธิบายส่วนที่ไม่ได้อยู่บนคุณค่าทางการเมือง แต่ต้องวางอยู่บนหลักการเพื่อปกป้องการสูญเสีย และวางกรอบแนวปฏิบัติให้กับอีกฝ่าย

ผลประโยชน์ทางอ้อมของ ‘สงคราม’
แม้จะเกิดความสูญเสียขึ้นมากมาย แต่ในทุกๆ เหตุการณ์ความรุนแรงก็มักจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้กับมวลมนุษยชาติเสมอ อาจจะไม่สามารถเรียกว่าข้อดีได้ เป็นผลประโยชน์ทางอ้อมจากสงครามมากกว่า

ประโยชน์ที่ว่าหลักๆ ก็อย่างเช่น พัฒนาการด้านการแพทย์ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เมื่อสงครามสงบลงทุกอย่างก็ต้องกลับมาพัฒนาต่อ การแพทย์หลังสงครามครั้งใหญ่ๆ จึงมีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดเพราะมีความจำเป็นกับการช่วยชีวิตคน กระทั่งการสำรวจอวกาศ เครื่องบิทเจ็ต คอมพิวเตอร์ หรือการคิดค้นนวัตกรรมยาเพนนิซิลิน (ยาปฏิชีวนะ) ก็เกิดขึ้นภายหลังสงครามครั้งใหญ่เช่นกัน
อ.โสรัจจ์ อธิบายถึงความสูญเสียครั้งใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จากระเบิดนิวเคลียร์ด้วยว่า แม้ระเบิดนิวเคลียร์จะสร้างผลเสียอย่างมหาศาล แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ทำให้เกิด ‘ภาวะหยุดยั้ง’ สำหรับฝ่ายที่เตรียมจะก่อสงคราม เพราะต่างก็กลัวอานุภาพของระเบิดนิวเคลียร์ ที่หากดันทุรังสู้ต่อไปก็มีแต่จะนำมาซึ่งความเสียหาย

ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือคนที่ต้องการสงครามมากที่สุด
อ.โสรัจจ์ ยืนยันว่า ไม่มีมนุษย์ธรรมดาคนไหนต้องการสงคราม เว้นเพียงแต่ผู้มีอำนาจ หรือคนที่ต้องการผลประโยชน์จากดินแดนอื่นๆ แนวคิด ‘comradeship’ จึงไม่สามารถใช้ในยุคนี้ได้อีกแล้ว ด้วยอาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูงมาก ประกอบกับการใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยีในการสู้รบ บทบาทของคนก็น้อยตามลงไปด้วย การเชิดชูวีรกรรมของคนจึงแทบไม่มีเหลืออีกแล้ว

ตรงกับที่อ.เกษมก็บอกว่า comradeship หมดไปตั้งนานแล้ว ตอนนี้ทั่วโลกเป็นไปในลักษณะของ ‘international community’ อย่างการจัดตั้งสหภาพ หรือองค์กรข้ามชาติเพื่อรวมกลุ่มด้วยกัน เนื่องจากมนุษย์พยายามคิดบนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันแบบประชาคมมากขึ้น เพราะปัญหาที่ทุกชาติเผชิญอยู่หลายๆ อย่างเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ใช่ข้อกังวลของรัฐใดรัฐหนึ่งเท่านั้น

เช่น วิกฤตสิ่งแวดล้อม หรือเหตุการณ์ไฟป่าในออสเตรเลียก็ไม่ใช่ปัญหาของออสเตรเลียอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของระบบนิเวศโลกด้วย ฉะนั้นในเชิงความสัมพันธ์ระดับโลกแบบนี้ สงครามจึงกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างล้าสมัย

ทว่า ก็ยังมีกลุ่มประเทศ หรือกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ยังต้องการสงคราม ซึ่งสงครามนั้นก็เป็นความต้องการเพื่อใช้ในการต่อรองผลประโยชน์ หรือเป็นความต้องการของตัวเองมากกว่าพลเมืองในรัฐ

หลายครั้งการทำสงครามหรือการสู้รบที่ดูไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอ ผู้นำก็มีความพยายามในการให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยให้กับประเทศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากความสูญเสียมากที่สุดก็คือ ชนชั้นนำเองต่างหาก

 

สงครามที่นำมาซึ่งผลกระทบมากมายจึงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นการทำไปเพื่อประชาชนภายในประเทศอย่างแท้จริงได้เลย
 

บทความ


...
Card title

Some quick example text to build on the card title and make up the bulk of the card's content.

...
Card title

Some quick example text to build on the card title and make up the bulk of the card's content.

...
Card title

Some quick example text to build on the card title and make up the bulk of the card's content.

...
Card title

Some quick example text to build on the card title and make up the bulk of the card's content.

...
Card title

Some quick example text to build on the card title and make up the bulk of the card's content.